ตะกร้าของฉัน
กรุณาเลือกองค์กรก่อนจ่ายซะกาต คลิกที่นี่เพื่อเลือกองค์กรค่ะ
ไม่มีรายการในตะกร้า
รวม:0.00 บาท
ตะกร้าของฉัน
‘ซะกาตออนไลน์’ แพลตฟอร์มภาษีสังคมตามหลักอิสลามรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดช่องว่างในสังคม
สัลมาน สะนิ
03 มี.ค. (8 เดือนที่แล้ว)
บริษัท ซะกาต(ไทยแลนด์) จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
นี่คือครั้งแรกที่โครงการ Youth Co:Lab จัดแบบออนไลน์ 100% เพื่อปฏิบัติตามมาตรการลดการเดินทางและลดการสัมผัสภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงรุกรานบางพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนล้วนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เราพบว่ามีแสงสว่างทางโอกาสสว่างวาบขึ้นมา นั่นก็คือผู้ร่วมที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้โดยผ่านกระบวนการเทรนนิ่งและติดตามผลแบบออนไลน์ เราจะเห็นว่าในปี 2021 นี้มีเยาวชนผู้พิการทางสายตาเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายด้วยโปรเจกต์ “แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ครบวงจร” โดยตั้งใจจะลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างเป็นระบบ
สภาพสังคมที่แตกต่างกันถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ชาวไทยพุทธนิยมทำบุญตามจิตศรัทธา แต่วิถีของชาวสุลิมนั้นแตกต่างกันออกไป “ซะกาต” ทานภาคบังคับ หรือภาษีสังคมตามหลักศาสนาอิสลาม คือหนึ่งในหลักปฏิบัติที่ชาวมุสลิมต้องทำเมื่อมีทรัพย์สินส่วนเกิน ในประเทศไทยชาวไทยมุสลิมจะจ่ายซะกาตจำนวน 2.5% จากทรัพย์สินส่วนตัวที่มี และการให้นั้นต้องตรงตามเกณฑ์ที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้แล้วจำนวน 8 กลุ่ม ซึ่งปกติการจ่ายซะกาตสามารถปฏิบัติได้เองหรือมอบให้องค์กรบริหารจัดการซะกาตเพื่อดำเนินการให้ แต่ในช่วงที่ไวรัสระบาดหนัก การเดินทางไปจ่ายซะกาตก็ถือเป็นภาระทางความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ก็มีผู้คนเดือดร้อนจากการขาดรายได้ที่กำลังเฝ้ารอความช่วยเหลือจากองค์กรบริหารจัดการซะกาตอยู่เช่นกัน
เยาวชนชาวมุสลิมรู้สึกว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยพัฒนาระบบการบริหารจัดการซะกาตให้มีความทันสมัยมากขึ้น และลดความยากจนตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงรวมตัวกันพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเปลี่ยนการบริหารจัดการซะกาตแบบออฟไลน์ให้เป็นแบบออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อหันกลับไปดูบริบทในพื้นที่แล้วยังต้องอาศัยทรัพยากรในการพัฒนาระบบอีกมาก พวกเขาเล่าให้ฟังว่าแพลตฟอร์มนี้มีอยู่แล้ว ซึ่งจัดทำโดยสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ มีเพียงระบบคำนวณซะกาตประเภทต่างๆ ยังขาดงบประมาณในการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มระบบซะกาตครบวงจรตามที่ตั้งใจไว้
เมื่อถามว่าแล้วสิ่งนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร พวกเธอจึงอธิบายให้เห็นทัศนียภาพทางสังคมที่ไม่เคยมีแหล่งข้อมูลจัดเก็บผู้มีสิทธิได้รับซะกาตอย่างเป็นระบบ และการตรวจสอบองค์กรบริหารจัดการซะกาตอย่างโปร่งใส เนื่องจากองค์กรบริหารจัดการซะกาตไม่แสดงงบการเงินต่อสาธารณะ ทำให้ผู้จ่ายซะกาตขาดความเชื่อมั่นและเลือกที่จะจ่ายซะกาตเองโดยไม่ผ่านองค์กร อาจเป็นเพราะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ว่าผู้รับซะกาตเป็นผู้มีสิทธิรับซะกาตตามเกณฑ์ที่ศาสนาอิสลามกำหนดหรือไม่ บางกรณีเกิดการจ่ายซะกาตซ้ำซ้อน ทำให้ซะกาตไม่ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สร้างเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยที่ผู้จ่ายซะกาตสามารถคำนวณและจ่ายซะกาตออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มได้ ผู้ขอรับซะกาตสามารถยื่นขอรับซะกาต ตรวจสอบสถานะการอนุมัติและยืนยันการรับสวัสดิการซะกาตออนไลน์ได้ ส่วนองค์กรก็สามารถบริหารจัดการซะกาตออนไลน์โดยผ่านสองระบบคือ ระบบสำนักงานใหญ่และระบบสาขาในชุมชน มีการแสดงงบการเงินต่อสาธารณชน และที่สำคัญมีระบบฐานข้อมูลผู้รับซะกาต (Zakat Recipients Map and Analytics Platform: ZRMAP) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาผู้รับซะกาตแบบชี้เป้า
แพลตฟอร์มเช่นนี้จะช่วยตอบคำถามสี่ประเด็น คือ 1) ผู้มีสิทธิรับซะกาตอยู่ที่ไหนและ 2) มีจำนวนกี่คนในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน 3) เขาต้องการการสนับสนุนด้านใด และ 4) หลังจากเขาได้รับเงินซะกาต 1 ปี เขามีสถานะพึ่งพาตนเองได้และหลุดพ้นจากผู้มีสิทธิรับซะกาตกี่คน เช่นนี้จะทำให้องค์กรบริหารจัดการซะกาตสามารถออกแบบนโยบายหรือโครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้ เช่น สวัสดิการส่งเสริมอาชีพ ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารรายเดือน ค่าสร้างซ่อมเช่าบ้าน ปลดหนี้ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง และ ค่าเทคโนโลยีและสื่อสาร เป็นต้น การแก้ปัญหาและแจกจ่ายซะกาตจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แก้ปัญหาผู้รับซะกาตซ้ำซ้อน เพราะมีระบบติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลผู้รับซะกาตรายครัวเรือนหรือบุคคลรายเดือนในระยะเวลา 1 ปี เพื่อพัฒนาผู้รับซะกาตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้หลุดพ้นจากผู้รับซะกาตและเป็นผู้จ่ายซะกาตต่อไป
“แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ครบวงจร” จึงเริ่มต้นจากประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวงล้อมแห่งความเหลื่อมล้ำ สมาชิกในทีมได้วางแผนอย่างเป็นระบบโดยประสานกับคณะกรรมการมูลนิธิ 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดยะลาเพื่อนำร่องใช้แพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ต้นแบบในการบริหารจัดการซะกาตของมูลนิธิ โดยที่ผู้ขอรับซะกาตสามารถยื่นขอรับซะกาตออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต้นแบบกับมูลนิธิได้ อาสาสมัครของมูลนิธิจะลงพื้นที่เพื่อคัดกรองผู้มีสิทธิรับซะกาตที่ผ่านเกณฑ์เพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติสวัสดิการซะกาต
ในอีกทาง ผู้จ่ายซะกาตก็สามารถติดตามการลงพื้นที่เพื่อส่งมอบสวัสดิการแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาตและงบการเงินของมูลนิธิผ่านแพลตฟอร์มได้ และในการเข้าร่วมโครงการ Youth Co:Lab ครั้งนี้ ทางทีมได้ตั้งเป้าหมายในการวัดผลผู้มีสิทธิได้รับซะกาต 3 กลุ่มด้วยกัน คือ คนขัดสน คนยากจน และมุสลิมใหม่ และยังตั้งเป้าว่าหลังจากการพัฒนาแพลตฟอร์มแล้ว จะมีคนเข้ามาจ่ายซะกาตแบบออนไลน์มากขึ้นไม่เฉพาะแต่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยี แต่หมายถึงคนทุกกลุ่มซึ่งประเมินได้ว่าการพัฒนาประสบความสำเร็จจริงๆ
ทางทีมย้ำว่าการจ่ายซะกาตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เงินที่ได้รับจากการจ่ายซะกาตสามารถแปรเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาของเด็กๆ อาหารที่มีคุณภาพของทุกคนในครอบครัว หรือสารตั้งต้นในการประกอบอาชีพเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากวัฏจักรของความยากจน เพราะในเมื่อซะกาตเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนในหลักศาสนาอิสลามที่ได้กำหนดให้ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติแล้ว ก็ควรจะทำให้กิจวัตรนี้ส่งผลกระทบต่อคนมากที่สุด พวกเขายังย้ำอีกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ระบบที่ดีจะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีคนเข้ามาใช้หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ได้ ยังมีอุปสรรคอย่างอื่นที่ต้องแก้ ไม่ใช่แค่ทีมเยาวชนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในหน่วยงานต่างๆ เช่น การยกเลิกลงทะเบียนแบบกระดาษ ข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และการแสดงผลของทั้ง 2 ฝั่งอย่างเรียลไทม์ ทั้งหมดต้องอาศัยทรัพยากรทั้งเงินสนับสนุนและแรงงานผู้ดูแลระบบ แต่พวกเธอก็เชื่อว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเราทุกคนจะเห็นว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์จริงๆ
ปัจจุบันมีผู้เข้าชมแพลตฟอร์มประมาณ 5,321 คน และมีผู้ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการจ่ายซะกาตแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งระบบสามารถอำนวยความสะดวกในการคิดคำนวณซะกาตที่ต้องจ่ายได้อย่างรวดเร็ว พวกเธอหวังว่าเมื่อไหร่ที่ระบบมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้มีคนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีต่อชีวิตของชาวมุสลิม และส่งผลกระทบถึงคนทั้งประเทศแน่นอน
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับซะกาตและเข้าไปเยี่ยมชมแพลตฟอร์มได้ที่นี่
ที่มาของบทความ:
Gallery
Sidebar
ตัวอย่างผลงาน
โครงการ สุขภาพดีตามแบบนบี
โดย มูลนิธิอัลฮูดาเพื่อสังคม
กิจกรรมกียามุลลัยล์ ประจำเดือนมีนาคม 2567
โดย ซูมัยยะห์ หะยีอาแว
วันเด็กดีของอัลลอฮฺ ครั้งที่ 3
โดย ซูมัยยะห์ หะยีอาแว